top of page

ลักษณะของข้อมูลที่ดี

  • Kru Graph
  • Dec 11, 2017
  • 1 min read

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

มีคำกล่าวเกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูลไว้อย่างน่าฟังว่า ถ้าข้อมูลเข้าเป็นขยะ สิ่งที่ออกมาก็จะเป็นขยะด้วย (Garbage In, Garbage Out) ซึ่งหมายความว่า ถ้าข้อมูลที่นำไปประมวลผลเป็นข้อมูลที่ด้อยคุณภาพ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ย่อมด้อยคุณภาพไปด้วย ดังนั้นเราจึงควรตระหนักถึงความสำคัญของการเก็บข้อมูล รวมถึงการประมวลผลข้อมูลเบื้องต้นด้วย โดยข้อมูลที่ดีควรมีลักษณะดังนี้

1.ความถูกต้องของข้อมูล

เป็นลักษณะสำคัญยิ่งของข้อมูล ถ้าข้อมูลไม่ถูกต้องแล้ว เราจะไม่สามารถได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องได้เลย ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ และไม่มีการตรวจสอบ เช่น ข้อมูลในโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบก่อนจะนำมาใช้เสมอ

นอกจากนี้ข้อมูลบางประเภท เช่น ข้อมูลที่เก็บเสียงจากไมโครโฟน อาจมีปัญหาเกี่ยวกับสัญญาณเสียงรบกวนเกิดขึ้น ดังนั้นข้อมูลประเภทนี้ จึงต้องได้รับการปรับปรุงคุณภาพหรือที่เรียกว่า กระบวนการลดสัญญาณรบกวน จึงจะสามารถนำไปใช้งานได้

สำหรับข้อมูลที่ได้รับการบันทึกด้วยมนุษย์โดยมากมักต้องผ่านการตรวจสอบก่อนเสมอ ซึ่งอาจตรวจสอบโดยมนุษย์หรือตรวจสอบโดยระบบ ตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่มีความสำคัญอาจต้องป้อนสองครั้ง เพื่อป้องกันความผิดพลาดซึ่งนักเรียนสามารถเห็นตัวอย่างของข้อมูลเหล่านี้ได้จากการป้อนรหัสผ่านเวลาลงทะเบียนตามเว็บไซต์ต่างๆ ที่นักเรียนต้องป้อนรหัสผ่านหรืออีเมล์สองครั้ง เพื่อป้องกันข้อผิดพลาด นอกจากนี้ข้อมูลที่เป็นรหัสตัวเลขสำคัญ มักจะมีตัวเลขซึ่งเป็นหลักตรวจสอบแฝงไว้เสมอ เช่น ข้อมูลหมายเลขบัตรเครดิต 16 หลักเมื่อนำมาผ่านกระบวนการประมวลผล จะสามารถตรวจสอบได้ว่า หมายเลขบัตรเครดิตนั้นถูกต้องหรือไม่ เป็นต้น

การยืนยันการกรอกรหัสผ่าน

ระบบตรวจสอบหมายเลขบัตรเครดิต

 

2.ความสมบูรณ์ครบถ้วนในการนำไปใช้งาน

ข้อมูลบางประเภทหากไม่ครบถ้วน จัดเป็นข้อมูลที่ด้อยคุณภาพได้เช่นกัน เช่น ข้อมูลประวัติคนไข้ หากไม่มีหมู่เลือดของคนไข้ จะไม่สามารถใช้ได้ในกรณีผู้ร้องขอข้อมูลต้องการข้อมูลหมู่เลือดของคนไข้ หรือข้อมูลที่อยู่ของลูกค้า ที่กรอกผ่านแบบฟอร์ม ถ้ามีแต่ชื่อและนามสกุลโดยไม่มีข้อมูลบ้านเลขที่ ถนน แขวง/ตำบล เขต/อำเภอ หรือจังหวัด ข้อมูลเหล่านั้นก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน

 

3.ความถูกต้องตามเวลา

ในบางกรณีข้อมูลผูกอยู่กับเงื่อนไขของเวลา ซึ่งถ้าผิดจากเงื่อนไขของเวลาไปแล้ว ข้อมูลนั้นอาจลดคุณภาพลงไป หรือแม้กระทั่งอาจไม่สามารถใช้ได้ เช่น ข้อมูลการให้ยาของคนไข้ในโรงพยาบาล ในทางการแพทย์แล้ว ข้อมูลนี้จะต้องถูกใส่เข้าไปในฐานข้อมูลที่คนไข้ได้รับยา เพื่อให้แพทย์คนอื่นๆ ได้ทราบว่า คนไข้ได้รับยาชนิดนี้เข้าไปแล้ว แต่ข้อมูลเรื่องการให้ยาของคนไข้นี้ อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยนทันทีสำหรับแผนกการเงิน เพราะทางแผนกการเงินจะคิดเงินก็ต่อเมื่อญาติของคนไข้มาตรวจสอบ หรือคนไข้กำลังจะออกจากโรงพยาบาล

ข้อมูลการติดตามตำแหน่งของรถยนต์ด้วยระบบจีพีเอส สำหรับบริษัทที่ต้องทำงานการติดตามรถยนต์ ข้อมูลของตำแหน่งรถยนต์ จะต้องได้รับการปรับให้เป็นจริงตลอดเวลา หากข้อมูลนั้นปรับทุกๆ หนึ่งชั่วโมงจะไม่มีประโยชน์ในการติดตามตำแหน่งของรถยนต์ ดังนั้นในเรื่องของความถูกต้องตามเวลาของข้อมูล จึงเป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาเมื่อต้องการมีการจัดการจัดเก็บข้อมูลหรือประมวลผลข้อมูล

ระบบติดตามรถขนส่งภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

4.ความสอดคล้องกันของข้อมูล

ในกรณีที่ข้อมูลมาจากหลายแหล่ง จะเกิดปัญหาขึ้นในเรื่องของความสอดคล้องกันของข้อมูล เช่น บริษัทแห่งหนึ่งซึ่งเก็บข้อมูลที่อยู่ลูกค้า หากต้องการนำข้อมูลไปควบรวมกับบริษัทอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีข้อมูลของลูกค้าอยู่เช่นกัน แต่ข้อมูลในการจัดส่งเอกสารของบริษัทแห่งแรก เป็นที่พักอาศัยของลูกค้า ในขณะที่ข้อมูลในบริษัทที่สองเป็นที่อยู่ของสถานที่ทำงานของลูกค้า ข้อมูลจากทั้งสองบริษัทเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง สอดคล้องตามเวลาทั้งคู่ แต่ถ้าต้องการเก็บข้อมูลที่อยู่ลูกค้าเพียงที่อยู่เดียว ก็จะเกิดปัญหาขึ้นได้


Comments


© 2017 Kittiphum Rueangsen | Nampongsuksa School. Proudly created with Wix.com

bottom of page